ประวัติความเป็นมา

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาเคียงคู่กับ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) ในสมัยที่เริ่มทำการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลหรือเขื่อนยันฮีนั้น “การไฟฟ้ายันฮี” ได้ถูกจัดตั้งขึ้น เพื่อดูแลการก่อสร้างและบริหารจัดการเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จ แต่ระหว่างที่เขื่อนภูมิพลยังไม่แล้วเสร็จ การไฟฟ้ายันฮีจึงสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทไอน้ำขึ้นมารองรับก่อนในปี พ.ศ.2502 ถือเป็นโรงไฟฟ้าโรงแรกที่การไฟฟ้ายันฮีสร้างขึ้น และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2504

รฟ.พระนครเหนือเมื่อแรกก่อสร้าง

รฟ.พระนครเหนือเมื่อแรกก่อสร้าง

รฟ.พระนครเหนือใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในระยะแรก

รฟ.พระนครเหนือใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในระยะแรก


โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เปรียบเสมือน “โรงครู” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบไฟฟ้าสมัยใหม่ของประเทศไทย และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้รับใช้สังคมไทยมายาวนานถึง 40 ปี ในปี พ.ศ.2544 กฟผ. ได้ปลดโรงไฟฟ้านี้ออกจากระบบ และรื้อถอนเพื่อทำการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ในพื้นที่เดิม โรงไฟฟ้าพระนครเหนือโรงใหม่เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสหภาพเมียนมาร์ (ฝั่งตะวันตก) และแหล่งอ่าวไทย (ฝั่งตะวันออก) เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2549 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน พ.ศ.2553 และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2547-2558 จึงได้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 ขึ้น ตามสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่สูงขึ้น โดยได้รับอนุมัติโครงการฯ จากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 และได้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2559


รฟ.พระนครเหนือ

โรงจักรพระนครเหนือในอดีต

รฟ.พระนครเหนือใหม่

โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมพระนครเหนือใหม่



สถานที่ตั้ง

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ตั้งอยู่ที่ 53 หมู่ 2 ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โดยติดอยู่กับสำนักงานใหญ่ กฟผ. มีพื้นที่ประมาณ 112 ไร่ ประกอบด้วย อาคารผลิตกระแสไฟฟ้า อาคารสถานีไฟฟ้าแรงสูง อาคารผลิตน้ำใช้ในโรงไฟฟ้าและหอหล่อเย็น ส่วนพื้นที่อีกจำนวน 34 ไร่ เป็นพื้นที่สีเขียว


ลักษณะโรงไฟฟ้าและกำลังการผลิต

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียงชนิดเดียวในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซธรรมชาติผสมระหว่างแหล่งสหภาพเมียนมาร์ (ฝั่งตะวันตก) และแหล่งอ่าวไทย (ฝั่งตะวันออก) จัดส่งโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

รฟ.พระนครเหนือ

โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1

มีกำลังผลิตสุทธิ 704 เมกะวัตต์ ทำงานเป็นแบบลักษณะแบบแกนร่วม (Multi Shaft Combine Cycle) ประกอบด้วย เครื่องกังหันก๊าซ จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องกังหันไอน้ำ จำนวน 1 เครื่อง มีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซในกระบวนการผลิตประมาณ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน


โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2

มีกำลังผลิตสุทธิ 848.3 เมกะวัตต์ ทำงานเป็นแบบลักษณะแบบแกนเพลาเดียว (Single Shaft Combine Cycle) ประกอบด้วย เครื่อง กังหันก๊าซ จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องกังหันไอน้ำ จำนวน 2 เครื่อง มีปริมาณความต้องการใช้ก๊าซในกระบวนการผลิตประมาณ 144 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โรงไฟฟ้าทั้ง 2 ชุด ทำงานโดยใช้พลังงานความร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงก๊าซในเครื่องกังหันก๊าซ (Gas Turbine) เป็นแหล่งพลังงานต่อเพลาเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) และใช้ไอร้อน (Hot Air) ที่ออกจากเครื่องกังหันก๊าซเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานในการผลิตไอน้ำที่เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันสูง ( HRSG : Heat Recovery Steam Generator) เพื่อขับเคลื่อนเครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนไอน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วจากเครื่องกังหันไอน้ำ จะถูกเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นน้ำ เพื่อนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตไอน้ำอีกครั้งโดยผ่านเข้าสู่เครื่องควบแน่น (Condenser) และใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นน้ำหล่อเย็น แล้วจึงนำไปผ่านหอหล่อเย็น (Cooling Tower) เพื่อลดอุณหภูมิ